เปลี่ยนภาษา: English
หน้ากากอนามัย ช่วยสะท้อนน้ำ – ไม่ดูดซับความชื้น
TATIP: ระบบวัดขนาดต้อเนื้อด้วยกระบวนการประมวลผลภาพ ผลงานเข้ารอบชิงชนะเลิศ NSC2020
ผงปรุงรสล็อบสเตอร์ ผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มจากเศษเปลือกกุ้งล็อบสเตอร์
ดู Featured Stories ทั้งหมด
TATIP: ระบบวัดขนาดต้อเนื้อด้วยกระบวนการประมวลผลภาพ ผลงานเข้ารอบชิงชนะเลิศ NSC2020
ระบบวัดขนาดต้อเนื้อด้วยกระบวนการประมวลผลภาพ เพื่อช่วยแพทย์ในการคัดกรองประเภทและตรวจวัดขนาดต้อเนื้อของผู้ป่วย เพิ่มประสิทธิภาพและลดความคลาดเคลื่อนในการตรวจวัด
วันจันทร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ.2563
โรคต้อเนื้อเป็นอีกโรคหนึ่งที่พบได้บ่อยในคนไทย และคนที่อยู่ในประเทศแถบเส้นศูนย์สูตร สาเหตุเกิดจากการที่ผิวหน้าดวงตาสัมผัสกับแสงอัลตร้าไวโอเลต ลม ฝุ่น ควัน อากาศแห้ง หรือสิ่งระคายเคืองตาอื่นๆ เป็นต้น โดยอาจจะมีการลุกลามเข้าไปถึงกลางกระจกกระจกตาทำให้มองเห็นได้ไม่ชัดเจน การรักษาโรคต้อเนื้อจะขึ้นอยู่กับขนาดของเนื้อเยื่อที่ลุกลามเข้าในดวงตา โดยมากเมื่อพบว่ามีขนาดใหญ่จนแพทย์สังเกตเห็นได้ชัดเจน แพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดลอกต้อเนื้อออก แต่หากการวัดขนาดต้อเนื้อที่ลุกลามในดวงตา จำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยด้วยแพทย์และเครื่องมือเฉพาะทาง ซึ่งต้องทำหลายครั้ง ผลที่ได้ก็อาจจะมีความคลาดเคลื่อนไม่เที่ยงตรงสม่ำเสมอ
ท่ามกลางผลงานที่ส่งเข้าร่วมประกวดในการแข่งขัน National Software Contest ครั้งที่ (NSC2020) ซึ่งจัดโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กว่า 600 ผลงานทั่วประเทศ ระบบวัดขนาดต้อเนื้อด้วยการประมวลผลภาพ TATIP (Thammasat Analysis Tool for Identifying Plerygium) ผลงานของนางสาวกนกกร คลังทอง และนายอภิสิทธิ์ ศรีโกตะเพชร สองนักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ ภายใต้การให้คำปรึกษาโดย ผศ.ดร.เสาวลักษณ์ วรรธนาภา อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ รศ.นพ.โกศล คำพิทักษ์ ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศในการแข่งขันครั้งนี้
แอปพลิเคชัน TATIP ใช้เทคนิคการประมวลผลภาพจากโทรศัพท์มือถือ เพื่อหาบริเวณกระจกตาแบบอัตโนมัติ และคัดกรองภาพถ่ายเพื่อจำแนกว่ามีต้อเนื้อลุกลามเข้าบริเวณกระจกตาหรือไม่ โดยได้มีการศึกษาเปรียบเทียบผลในการวัดขนาดเนื้อเยื่อของต้อเนื้อโดยแอปพลิเคชันเปรียบเทียบกับผลวิเคราะห์จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มีความแม่นยำในการตรวจจับมากยิ่งขึ้น ทำให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ป่วยที่ต้องการติดตามอาการของตนเอง และเพิ่มประสิทธิภาพในการคัดกรองให้สถานบริการทางการแพทย์ต่อไป
ขอเชิญทุกท่านร่วมเป็นกำลังใจให้กับทีมงานผู้พัฒนาระบบ TATIP ในการแข่งขัน NSC2020 รอบชิงชนะเลิศที่จะจัดขึ้นในเร็วๆ นี้ด้วย